เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “สัตวแพทย์กรมอุทยานฯ เร่งช่วยหมีหมาถูกบ่วงรัดจนต้องตัดข้อขาหน้าทิ้งเพื่อรักษาชีวิต หลังพบเนื้อตายและติดเชื้อรุนแรง จากนี้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด
9 มกราคม 2564 นายศรชัย สังคเลิศ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับการประสานจาก นายบุญเชิด เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา หลังมีชาวบ้านพบหมีบาดเจ็บ อยู่หลังหมู่บ้านภักดีแผ่นดิน ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ
เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.1 (ปราจีน) เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติปางสีดา ปด.7(ภักดีแผ่นดิน) และผู้นำชุมชนบ้านภักดีแผ่นดิน ติดตามปูพรมค้นหาแต่ไม่พบตัวหมีตัวดังกล่าว จึงได้วางกรงดักไว้ ต่อมาในวันที่ 7 มกราคมคณะเจ้าหน้าที่ได้ปูพรมค้นหาอีกครั้ง กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่พบหมีตัวดังกล่าวจึงทำการจับโดยการยิงยาสลบ
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นหมีหมา เพศผู้ อายุประมาณ 8 ปี น้ำหนักประมาณ 40 กก. สภาพร่างกายอ่อนเพลีย บริเวณขาหน้าด้านขวามีบ่วงลวดสลิงรัดจนเป็นแผลลึกถึงกระดูก เจ้าหน้าที่จึงเร่งทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ยาปฎิชีวนะและน้ำเกลือ ก่อนเคลื่อนย้ายนำมาดูแลรักษาต่อที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน
ด้าน สพ.ญ.สุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบและประเมินภาวะโภชนาการภายนอก (bodyscore) 2.5/5 หมีน่าจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 7-8 ปี เพศผู้ มีภาวะขาดน้ำ(dehydrate) และเยื่อเมือกซีด บาดแผลภายนอกที่ข้อขาหน้าขวา เกิดจากการที่ถูกลวดสลิงรัดจนถึงกระดูก ผิวหนังเปื่อยหายไปบางส่วน มีการอักเสบและติดเชื้อรุนแรงถึงกระดูก มีกลิ่นเหม็นเน่า ใช้งานไม่ได้ และไม่มีความรู้สึก หากตัดสินใจทำการรักษาช้า อาจส่งผลให้หมีเสียชีวิตได้
สัตวแพทย์จึงต้องตัดเอาส่วนเนื้อตายและติดเชื้อออกเพื่อควบคุมไม่ให้ติดเชื้อลุกลาม และเพื่อเป็นการรักษาชีวิตของหมีไว้ โดยขั้นตอนการรักษา คือ วางยาสลบเพื่อผ่าตัดข้อมือส่วนที่ติดเชื้อออก หลังจากนั้นล้างทำความสะอาดแผล เย็บปิดบาดแผล และพันแผลป้องกันสิ่งสกปรก จากนั้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ฉีดยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ได้ดีต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังและกระดูก ฉีดยาลดอักเสบลดปวด ยาบำรุงเลือด ยาบำรุงร่างกาย และฉีดยาถ่ายพยาธิและกำจัดปรสิตภายนอก จากนั้นให้ยาแก้ฤทธิ์ยาสลบ และเฝ้ารอดูอาการจนหมีมีการฟื้นตัวได้ดี
ในส่วนของแผนการรักษาต่อไป สัตวแพทย์และสัตวบาลจะเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ตลอดเวลา โดยจะให้ยาลดปวดต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน และยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ยาวนานทุกๆ 7 วัน หลังจากนี้”.